แฮมแทรมิค มิชิแกน เมืองต้นแบบสหรัฐ คณะผู้บริหารเป็นมุสลิม ต่างศาสนาอยู่กันอย่างสันติ

ADMIN

ที่มาของภาพ,GETTY IMAGES

การเดินไปตามถนนสายหลักของเมืองแฮมแทรมิค (Hamtramck) รัฐมิชิแกน ให้ความรู้สึกราวกับได้เดินทางไปทั่วโลก

ร้านไส้กรอกของชาวโปแลนด์ และร้านเบเกอรีของชาวยุโรปตะวันออกตั้งอยู่เคียงข้างกับห้างสรรพสินค้าของชาวเยเมน และร้านเสื้อผ้าของชาวบังกลาเทศ ขณะที่ระฆังโบสถ์คริสต์ก็ส่งเสียงก้องกังวานไปพร้อมกับเสียงประกาศเวลาละหมาดของชาวมุสลิม

“โลกในพื้นที่ 2 ตารางไมล์” คือคำขวัญประจำเมืองแฮมแทรมิค ที่สะท้อนชีวิตจริงของผู้คนในเมืองนี้ซึ่งใช้ภาษาพูดกันถึง 30 ภาษาในอาณาเขต 5 ตารางกิโลเมตร

เมืองในภูมิภาคมิดเวสต์ของสหรัฐฯ แห่งนี้ มีประชากร 28,000 คน และในเดือนนี้พวกเขาได้สร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ ด้วยการมีสมาชิกสภาเมือง และนายกเทศมนตรีเป็นชาวมุสลิมทั้งหมด กลายเป็นเมืองแรกในสหรัฐฯ ที่มีรัฐบาลท้องถิ่นเป็นชาวอเมริกันมุสลิมทั้งชุด

ในอดีต ชาวมุสลิมในเมืองนี้เคยต้องเผชิญกับการเลือกปฏิบัติ แต่ในปัจจุบันพวกเขาได้กลายเป็นส่วนสำคัญในเมืองที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมแห่งนี้ อีกทั้งยังมีสัดส่วนกว่าครึ่งของประชากรที่นี่

แม้จะมีความท้าทายทางเศรษฐกิจ และการถกเถียงอย่างตึงเครียดทางวัฒนธรรม แต่ชาวเมืองแฮมแทรมิคที่มาจากต่างศาสนาและวัฒนธรรมก็สามารถอาศัยอยู่ร่วมกันอย่างสันติ นี่จึงทำให้เมืองนี้เป็นกรณีศึกษาที่สำคัญสำหรับสังคมอเมริกันในอนาคตที่กำลังมีความหลากหลายของประชากรเพิ่มขึ้นทุกขณะ

หน้าประวัติศาสตร์เมืองแฮมแทรมิคได้เริ่มต้นจากการเป็นเมืองที่ชาวเยอรมันเข้าไปตั้งรกราก จนถึงปัจจุบันที่กลายเป็นเมืองแห่งแรกในอเมริกาที่ประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิม

สลาตัน ซาดีโควิค ผู้อพยพชาวบอสเนีย ซึ่งเปิดร้านกาแฟในย่านใจกลางเมืองแฮมแทรมิค เล่าว่า “มันไม่ใช่เรื่องผิดปกติที่จะได้เห็นคนนุ่งกระโปรงสั้น และมีรอยสัก เดินอยู่บนถนนสายเดียวกับคมสวมผ้าคลุมศีรษะแบบหญิงมุสลิมที่เรียกว่า “บูร์กา”

ที่มาของภาพ,GETTY IMAGES

แฮมแทรมิคตั้งอยู่นอกนครดีทรอยต์ ในอดีตเมืองแห่งนี้เคยเป็นส่วนหนึ่งของศูนย์กลางอุตสาหกรรมยานยนต์ของอเมริกา โดยเป็นที่ตั้งของโรงงานบริษัทเจเนรัลมอเตอร์ส (General Motors) และรถคาดิลแลค เอลโดราโด (Cadillac Eldorado) คันแรกก็แล่นออกจากโรงงานในเมืองแฮมแทรมิค ช่วงทศวรรษที่ 1980

ในช่วงศตวรรษที่ 20 เมืองแฮมแทรมิคยังเป็นที่รู้จักในนามของ “ลิตเติล วอร์ซอว์” (Little Warsaw) เนื่องจากมีผู้อพยพชาวโปแลนด์ย้ายเข้าไปอยู่เพื่อขายแรงงานเป็นจำนวนมาก โดยในปี 1970 ประชากร 90% ของเมืองมีเชื้อสายคนโปแลนด์

อย่างไรก็ตาม ในช่วงเดียวกันนั้น อุตสาหกรรมยานยนต์ในสหรัฐฯ เริ่มซบเซาลง ทำให้หนุ่มสาวชาวอเมริกันเชื้อสายโปแลนด์ที่มีฐานะดีต่างโยกย้ายไปอยู่นอกเมือง การเปลี่ยนแปลงนี้ ทำให้แฮมแทรมิคกลายเป็นหนึ่งในเมืองยากจนที่สุดของรัฐมิชิแกน แต่ค่าครองชีพที่ต่ำในเมืองนี้ก็ดึงดูดให้ผู้อพยพเข้ามาอยู่เพิ่มขึ้น

ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา เมืองแฮมแทรมิคได้เปลี่ยนโฉมอีกครั้ง โดยกลายเป็นที่ลงหลักปักฐานของผู้อพยพชาวอาหรับและชาวเอเชียใต้ โดยเฉพาะคนจากประเทศเยเมน และบังกลาเทศ โดยสัดส่วนของประชากรเมืองในปัจจุบันมีชาวเมือง 42% ที่เป็นผู้มีถิ่นกำเนิดในต่างแดน และเชื่อว่ากว่าครึ่งนับถือศาสนาอิสลาม

รัฐบาลท้องถิ่นที่เพิ่งได้รับเลือกตั้งชุดใหม่ ถือเป็นภาพสะท้อนความเปลี่ยนแปลงของประชากรเมืองแฮมแทรมิค โดยสมาชิกสภาเมืองมีชาวอเมริกันเชื้อสายบังกลาเทศ 2 คน ชาวอเมริกันเชื้อสายเยเมน 3 คน และชาวอเมริกันเชื้อสายโปแลนด์ที่เปลี่ยนมานับถือศาสนาอิสลามอีก 1 คน

หลังจากได้รับคะแนนเสียง 68% เอเมอร์ กาลิบ ก็กำลังจะก้าวขึ้นเป็นนายกเทศมนตรีที่เป็นชาวอเมริกันเชื้อสายเยเมนคนแรกของสหรัฐฯ

“ผมรู้สึกเป็นเกียรติและภาคภูมิใจ แต่ผมก็รู้ว่ามันคือความรับผิดชอบที่ยิ่งใหญ่” นายกาลิบ วัย 41 ปีกล่าว

นายกเทศมนตรีคนใหม่ของเมืองแฮมแทรมิคผู้นี้เกิดในหมู่บ้านแห่งหนึ่งของเยเมน และย้ายไปอยู่ในอเมริกาตอนอายุ 17 ปี เขาทำงานในโรงงานผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ใกล้กับเมืองแฮมแทรมิค ก่อนที่ในเวลาต่อมาจะเรียนภาษาอังกฤษ และได้รับการฝึกอบรมด้านการแพทย์ ซึ่งเป็นงานที่เขาทำอยู่ในปัจจุบัน

อะแมนดา แจคซ์คอฟสกี ที่เพิ่งได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาเมือง กล่าวว่า ในขณะที่สังคมอเมริกันมักถูกเปรียบเป็น “เบ้าหลอมทางวัฒนธรรม” (melting pot) หรือ “ชามสลัด” (salad bowl) แต่เมืองแฮมแทรมิคกลับเป็นเหมือน “เค้ก 7 ชั้น” มากกว่า โดยที่ชาวเมืองแต่ละกลุ่มยังคงยึดถือวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ของตนเอาไว้ ในขณะที่ใช้ชีวิตร่วมกันอย่างใกล้ชิดกับคนในวัฒนธรรมอื่น

น.ส.แจคซ์คอฟสกี วัย 29 ปี อธิบายต่อว่า “เวลาที่คุณอยู่ร่วมกันอย่างใกล้ชิดขนาดนี้ คุณก็จะต้องเอาชนะความแตกต่างเหล่านี้ให้ได้”

ที่มาของภาพ,COURTESY OF AMANDA JACZKOWSKI

คำบรรยายภาพ,อะแมนดา แจคซ์คอฟสกี ชี้สังคมเมืองแฮมแทรมิคมีลักษณะเหมือน “เค้ก 7 ชั้น” ที่ชาวเมืองแต่ละกลุ่มยังคงยึดถือวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ของตนเอาไว้ โดยที่ยังใช้ชีวิตร่วมกันอย่างใกล้ชิดกับคนในวัฒนธรรมอื่น

อย่างไรก็ตาม คาเรน ไมแอฟสกี นายกเทศมนตรีที่กำลังจะพ้นจากตำแหน่ง หลังทำงานมา 15 ปี ชี้ว่า “ที่นี่ไม่ใช่ดิสนีย์แลนด์ มันเป็นเมืองเล็ก ๆ และเราก็มีความขัดแย้ง”

ความขัดแย้งครั้งใหญ่ปะทุขึ้นในปี 2004 หลังจากมีการลงมติให้เปิดเสียงประกาศเวลาละหมาดของชาวมุสลิมในที่สาธารณะ ขณะที่ชาวเมืองบางคนโต้แย้งว่าการห้ามเปิดบาร์ใกล้กับมัสยิดจะส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจในเมือง

เมื่อ 6 ปีที่แล้ว แฮมแทรมิคกลายเป็นเมืองในอเมริกาแห่งแรกที่สมาชิกสภาท้องถิ่นส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิม สื่อมวลชนทั่วประเทศต่างให้ความสนใจ และบางสำนักรายงานภาพความตึงเครียดในเมืองจากการทะลักเข้ามาของชาวมุสลิม อีกทั้งยังมีการคาดเดาว่าสมาชิกสภาท้องถิ่นที่ได้รับเลือกเข้ามาบางคนอาจบังคับใช้กฎหมายอิสลาม ที่เรียกว่า “ชารีอะห์”

“ชาวเมืองแฮมแทรมิคต้อง ‘มองบน’ กับข่าวแบบนี้” น.ส.ไมแอฟสกี นายกเทศมนตรีที่กำลังจะพ้นจากตำแหน่งกล่าว
เธอบอกว่ารู้สึก “ปลื้มใจ” ที่แฮมแทรมิค เป็นเมืองที่เปิดกว้าง และมันเป็นเรื่องปกติที่ชาวเมืองที่มาใหม่จะลงคะแนนเสียงเลือกคนที่มีประสบการณ์และพูดภาษาเดียวกับพวกเขา

แม้สำนักงานสำรวจสำมะโนประชากรในสหรัฐฯ จะไม่ได้เก็บข้อมูลเรื่องศาสนา แต่ศูนย์วิจัยพิว (Pew Research Center) ประเมินว่า ในปี 2020 มีชาวมุสลิมอาศัยอยู่ในสหรัฐฯ 3.85 ล้านคน หรือคิดเป็นประมาณ 1.1% ของประชากรทั้งประเทศ และคาดว่าภายในปี 2040 อิสลามจะกลายเป็นศาสนาที่มีผู้นับถือมากเป็นอันดับที่ 2 ในอเมริกา รองจากศาสนาคริสต์

แม้จะมีชาวมุสลิมเพิ่มมากขึ้นในสังคมอเมริกัน แต่พวกเขายังต้องเผชิญกับอคติ

20 ปีหลังเกิดเหตุวินาศกรรม 9/11 กระแสความเกลียดกลัวต่อศาสนาอิสลามยังคงส่งผลต่อชาวมุสลิมและชาวอาหรับ

แม้ชาวอเมริกันกว่าครึ่งจะบอกว่าไม่รู้จักชาวมุสลิมเป็นการส่วนตัว แต่สำหรับคนที่ได้ทำความรู้จักกับผู้นับถือศาสนานี้ก็มีแนวโน้มน้อยลงที่จะคิดว่า ศาสนาอิสลามส่งเสริมความรุนแรงมากกว่าศาสนาอื่น ๆ

แฮมแทรมิค ถือเป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่า การที่ผู้คนได้มีความรู้ความเข้าใจกับศาสนานี้ด้วยตัวเอง สามารถช่วยขจัดกระแสชังอิสลามได้

ตอนที่ ชาฮับ อาห์เหม็ด ซึ่งมีเชื้อสายบังกลาเทศลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาท้องถิ่น หลังเกิดเหตุวินาศกรรม 9/11 ได้เพียงไม่นาน เขาพ่ายแพ้อย่างไม่เป็นท่า
เขาเล่าถึงเหตุการณ์ตอนนั้นว่า “มีใบปลิวทั่วเมืองโจมตีว่าผมเป็นสลัดอากาศที่ไปไม่ถึงเครื่องบิน”

โดยหลังจากแพ้การเลือกตั้งในปี 2001 นายอาห์เหม็ดก็ตระเวนเคาะประตูบ้านประชาชนเพื่อแนะนำตัวเอง และ 2 ปีต่อมาเขาก็ได้รับเลือกตั้งเป็นเจ้าหน้าที่เมืองชาวมุสลิมคนแรก

นับตั้งแต่นั้น ก็มีแรงสนับสนุนชาวมุสลิมเพิ่มขึ้นในเมืองแฮมแทรมิค แต่กระแสดังกล่าวต้องสะดุดลงหลังจากรัฐบาลของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ใช้มาตรการห้ามคนจากชาติมุสลิมเดินทางเข้าสหรัฐฯ ส่งผลให้ใช้เมืองพร้อมใจกันออกมาประท้วง

คำบรรยายภาพ,ศิลปะบนกำแพงของเมืองแฮมแทรมิคเป็นภาพหญิงสาวสวมผ้าคลุมฮิญาบ

ราซี จาฟรี ผู้ร่วมกำกับหนังสารคดีเรื่อง Hamtramck, USA ชี้ว่า ปรากฏการณ์ดังกล่าวช่วยนำพาและสร้างความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันให้ผู้คนมากมาย เพราะทุกคนรู้ว่าการจะอาศัยอยู่ในเมืองแฮมแทรมิค คุณจะต้องเคารพผู้อื่น”

แต่ถึงอย่างนั้นก็ไม่ได้หมายความว่า ชาวเมืองแฮมแทรมิคจะไม่มีเรื่องขัดแย้งกันเลย พวกเขายังคงมีความเห็นที่ต่างกันในหลายประเด็น เช่น การประดับธงสีรุ้งเพื่อสนับสนุนกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศตามร้านค้าในเมืองก็เผชิญกระแสต่อต้านจากคนบางส่วน รวมทั้งการเปิดร้านขายกัญชาที่แม้จะเป็นสิ่งถูกกฎหมายในรัฐมิชิแกน แต่ก็มีเสียงคัดค้านจากทั้งชุมชนชาวมุสลิม และชาวโปแลนด์ที่เป็นนับถือศาสนาคริสต์นิกายคาทอลิก

นอกจากนี้ ชาวบ้านบางส่วนยังแสดงความกังวลถึงเรื่องที่ชุมชนมุสลิมอนุรักษ์นิยมไม่ค่อยเปิดโอกาสให้ผู้หญิงมีส่วนร่วมในทางการเมือง

ปัจจุบัน แฮมแทรมิคยังเผชิญความท้าทายต่าง ๆ แบบเมืองอุตสาหกรรมซบเซาหลายแห่ง ตั้งแต่ ระบบโครงสร้างพื้นฐานที่ทรุดโทรม ไปจนถึงโอกาสทางเศรษฐกิจที่มีอย่างจำกัด ฝนที่ตกหนักในฤดูร้อนทำให้บ้านเรือนหลายหลังเผชิญปัญหาน้ำท่วม การตรวจพบสารตะกั่วระดับสูงปนเปื้อนในน้ำดื่มก็ทำให้เมืองเป็นข่าวดังระดับประเทศ และประชากรเกือบครึ่งหนึ่งของเมืองมีรายได้ต่ำกว่าเกณฑ์บ่งชี้ความยากจน เหล่านี้คือปัญหาเร่งด่วนบางส่วนที่คณะผู้บริหารชุดใหม่ต้องเข้ามาช่วยแก้ไขให้กับชาวเมือง

www.bbc.com